วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย




ประวัติศาสตร์สุโขทัย ตามตำนานกล่าวว่าพระยาพาลีราชเป็นผู้ตั้งเมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1043 และมีกษัตริย์ปกครองต่อกันมาหลายองค์ ถึงสมัยพระยาอภัยขอมลำพูนมารุกรานพระยาอภัยจึงหนีขอมไปจำศีลอยู่ที่เขาหลวงและไปได้สาวชาวป่าชื่อนางนาคเป็นชายา ต่อมาพระยาอภัยก็กลับสุโขทัยเพื่อครองเมืองตามเดิม และได้มอบผ้ากำพลกับพระธำมรงค์ไว้ให้นางนาคเป็นที่ระลึก เมื่อพระยาอภัยกลับไปแล้ว นางนาคก็ให้กำเนิดบุตรชายแต่ไม่รู้จะเก็บลูกไว้ที่ไหน จึงทิ้งลูกไว้ที่เขาหลวงพร้อมผ้ากำพล และพระธำมรงค์ พรานป่าคนหนึ่งไปพบจึงนำกลับมาเลี้ยง
ฝ่ายพระยาอภัยเมื่อกลับไปครองเมืองดังเดิมแล้วก็ได้เกณฑ์ชาวบ้านไปช่วยกันสร้างปราสาท นายพรานถูกเกณฑ์ไปด้วย ระหว่างการก่อสร้างปราสาทนายพรานได้วางเด็กน้อยไว้ข้างปราสาทนั้น เมื่อแสงแดดส่องถูกเด็กน้อยยอดปราสาทก็โอนเอนมาบังร่มให้เด็กอย่างอัศจรรย์ พระอภัยมาดูเหตุพบกุมารพร้อมผ้ากำพลและพระธำมรงค์จึงได้ขอเด็กไปเป็นบุตร ตั้งชื่อให้ว่าอรุณกุมาร


พระยาอภัยมีโอรสอีกองค์หนึ่งกับมเหสีใหม่ชื่อว่า ฤทธิกุมาร ต่อมาภายหลังได้ไปครองเมืองนครสวรรค์และมีนามใหม่ว่าพระลือ ส่วนอรุณกุมารไปได้ธิดาเมืองศรีสัชนาลัยเป็นชายาจึงไปครองศรีสัชนาลัยมีนามใหม่ว่า พระร่วงโรจนฤิทธิ์ พร้อมทั้งย้ายเมืองหลวงจากสุโขทัยไปศรีสัชนาลัย พระร่วงโรจนฤทธิ์ได้เสด็จไปเมืองจีนและได้พระสุทธิเทวีราชธิดากรุงจีนมาเป็นชายาอีกองค์หนึ่ง พร้อมทั้งได้นำช่างชาวจีนกลับมาตั้งเตาทำถ้วยชามที่ศรีสัชนาลัย ซึ่งเรียกว่าเตาทุเรียง ครั้งถึงปี พ.ศ. 1560 ขอมมารุกราน ศรีสัชนาลัย มีขอมดำดินมาจะจับพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระร่วงจึงสาบให้ขอมกลายเป็นหินอยู่ตรงนั้น

เมื่อสิ้นยุคพระร่วงโรจนฤทธิ์แล้ว ก็มีกษัตริย์ปกครองต่อมา คือพระเจ้าพสุจราชและพระธรรมไตรโลกและราชวงศ์กษัตริย์ก็ขาดลง บรรดาขุนนางจึงได้ไปเชิญพระร่วงซึ่งบวชอยู่ที่สุโขทัยมาครองเมือง ชื่อว่า พระยาศรีจันทราธิบดี



พระร่วงองค์นี้เป็นบุตรของนายคงเครา นายกองส่งส่วยน้ำเสวยให้แก่ขอมที่ละโว้ ชาวบ้านเรียกว่า พระร่วงวาจาสิทธิ์ เมื่ออายุ 11 ปี พระร่วงพายเรือเล่นในน้ำที่ไหลเชี่ยวเมื่อหมดแรงพาย ได้สั่งให้น้ำไหลย้อนทางน้ำก็ไหลย้อนพาเรือพระร่วงกลับมาถึงบ้านได้ พระร่วงเป็นนายกองส่งส่วยน้ำต่อจากนายคงเครา เมื่อขนส่วยไปส่งนั้นได้ใช้ชะลอมเป็นภาชนะใส่น้ำโดยที่น้ำไม่ไหลออกจากชะลอม ขอมเห็นพระร่วงมีฤทธิ์จึงได้ตามจับพระร่วง พระร่วงจึงหนีขอมไปบวชอยู่ที่สุโขทัย ระหว่างที่พระร่วงกวาดลานวัดอยู่ ขอมดำดินโผล่มาถามหาพระร่วง พระร่วงจึงสั่งให้ขอมกลายเป็นหินอยู่ตรงนั้น

เมื่อขึ้นครองเมือง พระร่วงได้ย้ายเมืองหลวงจากศรีสัชนาลัยมาที่สุโขทัย เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วพ่อขุนนาวนำถม ได้ปกครองสุโขทัยต่อมา และสุโขทัยก็ตกเป็นเมืองขึ้นของขอม พ่อขุนนาวนำถมและพ่อขุนศรีเมืองมานพยายามช่วยกันขับไล่ขอมจากสุโขทัยแต่ไม่สำเร็จ

ปี พ.ศ. 1800 พ่อขุนบางกลางทาวกับพ่อขุนผาเมืองสามารถขับไล่ขอมได้สำเร็จ พ่อขุนบางกลางท่าวขึ้นเป็นกษัตริย์สุโขทัยทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
สุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงและสมัยพระยาลิไทย สมัยพ่อขุนรามคำแหงนี้มีการเชิญพระสงฆ์จากนครศรีธรรมราชมาช่วยกันประดิษฐ์ลายสือไทยเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยเอง ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นหนังสือไทยในปัจจุบัน
พ.ศ. 1893 พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาอยุธยาเป็นราชธานีอีกแห่งหนึ่งของคนไทย แต่อยุธยากับสุโขทัยก็ไม่ได้เป็นศัตรูกัน
ในสมัยพระยาลิไทนั้นขุนหลวงพะงั่วแห่งอยุธยาได้มาร่วมมือกันเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาให้ เจริญรุ่งเรืองมีการนิมนต์พระสงฆ์มาช่วยรวบรวมพระธรรมวินัยที่กระจัดกระจายเพราะศึกสงคราม และให้คณะสงฆ์ร่วมกันร่างไตรภูมิพระร่วงเพื่อใช้สอนพุทธบริษัทให้ทำความดี ในสมัยพระยาลิไทยนี้ได้มีการสร้างพระพุทธรูปสำคัญของไทยสามองค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศากยมุนี
ยุคหลังพระยาลิไท อาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอลง ในที่สุดจึงถูกผนวกรวมเป็นอาณาจักรเดียวกับอยุธยา เมื่ออยุธยาเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ 2 เมืองสุโขทัยก็ยิ่งเสื่อมลง พลเมืองสุโขทัยส่วนใหญ่ อพยพหนีสงคราม
เมื่อตั้งกรุงธนบุรี สุโขทัยก็ถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่ด้วย โดยไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านธานีริมแม่น้ำยม ต่อมาก็ถูกยกฐานะเป็นอำเภอธานีขึ้นอยู่กับจังหวัดสวรรคโลก พ.ศ. 2475 เปลี่ยนชื่ออำเภอธานีเป็น อำเภอสุโขทัยธานี และ พ.ศ. 2482 ยุบจังหวัดสวรรคโลกเป็นอำเภอ และยกฐานะอำเภอสุโขทัยธานีขึ้นเป็น จังหวัดสุโขทัยแทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น